Wednesday, June 24, 2015

การออกกำลังในช่วงตั้งครรภ์

การออกกำลังกายเบาๆ ระหว่างตั้งครรภ์ จะส่งผลดีต่อสุขภาพของทารกในอนาคต โดยจะเป็นการควบคุมน้ำหนักของทารกในครรภ์ด้วย โดยหญิงตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไป มีความเป็นไปได้ว่า จะมีทารกที่ตัวโตกว่ามาตรฐาน และนั่นอาจจะส่งผลต่อสุขภาพในอนาคตของทารกด้วย
จากการศึกษาหญิงตั้งครรภ์ ที่ตั้งครรภ์เป็นครั้งแรกจำนวน 84 ราย พบว่าการออกกำลังกายจะทำให้คลอดบุตรที่มีน้ำหนักน้อยกว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ออกกำลังกาย โดยที่น้ำหนักของทารกยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และทารกมีสุขภาพดี จึงแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ออกกำลังกายเบาๆ อย่างสม่ำเสมอ


มีหลักฐานเพิ่มเติมว่า การเผาผลาญอาหารของเด็กในอนาคต อาจจะมีผลมาจากสภาพแวดล้อมภายในครรภ์ และทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักมาก มีโอกาสที่จะอ้วนมากเกินไปในอนาคต

สูติแพทย์จึงชักจูงให้คำแนะนำหญิงตั้งครรภ์ให้บริโภคอาหารแต่พอเหมาะ ในปริมาณที่ไม่มากจนเกินไป และถ้าเป็นไปได้ให้ออกกำลังกายอย่างเบาๆ เป็นพื้นฐานด้วย

การศึกษาร่วมกันระหว่าง มหาวิทยาลัย Auckland และมหาวิทยาลัย Northern Arizona โดยการให้หญิงตั้งครรภ์จำนวนหนึ่งร่วมทำการทดลอง ครึ่งหนึ่งของจำนวนหญิงตั้งครรภ์ให้ออกกำลังกายโดยให้ปั่นจักรยาน 5 ครั้งใน 1สัปดาห์ แต่ละครั้งใช้เวลา 40 นาที และขอให้ผู้เข้าร่วมการทดลอง ออกกำลังกายดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย 36 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์

จากผลการวิจัย พบว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองที่ต้องออกกำลังกาย และผู้ร่วมทดลองที่ไม่ได้ออกกำลังกาย คลอดเด็กที่มีความยาวไม่ต่างกัน แต่ผู้ที่ออกกำลังกายจะคลอดเด็กที่มีน้ำหนักน้อยกว่าโดยเฉลี่ย 0.32 ปอนด์ หรือ 143 กรัม และการออกกำลังกายไม่ได้มีผลให้เด็กที่เติบโตในครรภ์แคระแกรน แต่ช่วยลดไขมันส่วนเกินที่เกิดขึ้นแทน

นอกจากนี้ การออกกำลังกายไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของหญิงตั้งครรภ์ต่อฮอร์โมนอินซูลินที่สำคัญต่อกลไกการให้อาหารทารกในครรภ์ การค้นพบได้ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Clinical Endocrinology & Metabolismโดย Dr. Paul Hofman ผู้นำการศึกษาครั้งนี้ กล่าวว่า “เด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักมาก มีความเสี่ยงที่จะอ้วนเกินไปมากขึ้นด้วย เด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักปานกลาง จะส่งผลดีต่อสุขภาพในระยะยาวต่อไปในอนาคตโดยการลดความเสี่ยงของโรคต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการมีน้ำหนักเกิน”

Dr. Anne Dornhorst ผู้เชี่ยวชาญการวิจัยเรื่องการย่อยอาหารของหญิงมีครรภ์ เปิดเผยว่าการออกกำลังระหว่างตั้งครรภ์ สามารถช่วยส่งเสริมสุขภาพของแม่และเด็กได้เป็นอย่างดี

          อย่างไรก็ตามการออกกำลังสำหรับหญิงตั้งครรภ์แต่ละรายมีข้อจำกัด ทั้งอายุของมารดา ภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ และความเสี่ยงต่อการแท้งบุตรที่แตกต่างกันดังนั้น หญิงตั้งครรภ์ควรปรึกษาสูติแพทย์ที่ดูแลครรภ์ด้วยว่าการออกกำลังในรูปแบบใด และมากน้อยแค่ไหน จึงเหมาะสมกับตนเอง

No comments:

Post a Comment